วัตถุประสงค์การกำเนิดธรรมยุติกนิกาย
ธรรมยุติกนิกาย ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้มีความถูกต้องและเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่โบราณ ให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นความพยายามของพระวิชรญาณเถระเพื่อช่วยปฏิรูปการคณะสงฆ์และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย
การก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นสาเหตุทำให้พระสงฆ์เถรวาทอื่นซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ได้มีการประชุมและมีมติให้เรียกพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ว่า “มหานิกาย”
ตราคณะธรรมยุติกนิกาย
พัฒนาการของธรรมยุติกนิกาย
ตามความในพระราชประวัติแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มปรับปรุงแก้ไขการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยในส่วนพระองค์ เพื่อให้ถูกต้องตามที่ทรงได้ศึกษาพิจารณามาตั้งแต่ผนวชได้ 2 พรรษา ขณะที่ยังประทับอยู่วัดมหาธาตุ และเริ่มมีสหธรรมิกอื่น ๆ นิยมปฏิบัติตามพระองค์ขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่มากนัก
ครั้นปี พ.ศ. 2372 อันเป็นปีที่ผนวชได้ 6 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ มาถึงระยะนี้ คงมีภิกษุสามเณรที่นิยมการปฏิบัติตามอย่างพระองค์และมาถวายตัวเป็นศิษย์มากขึ้น จึงได้เสด็จจากวัดมหาธาตุกลับไปวัดสมอราย อันเป็นวัดนอกกำแพงพระนครและเป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี หรือวัดป่า ที่มีชื่ออยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ก็คงเพื่อความสะดวกพระทัย ในอันเป็นที่พระองค์พร้อมทั้งคณะศิษย์จะได้ประพฤติปฏิบัติ และบำเพ็ญกิจวัตรต่างๆ ทางพระธรรมวินัยที่เห็นว่าถูกว่าควรได้ตามประสงค์ แต่ศิษย์บางส่วนก็ยังคงอยู่ที่วัดมหาธาตุต่อมา
แม้เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดสมอรายแล้ว การปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในคณะของพระองค์ก็คงยังดำเนินไปได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะพระองค์มิได้ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์แห่งสำนักนั้น ฉะนั้น ในขณะเมื่อประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุก็ดี ที่วัดสมอรายก็ดี ทำเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขขึ้นใหม่คงยังไม่ได้มีกำหนดเป็นรูปแบบที่ชัดเจนบริบูรณ์
ต่อเมื่อเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2379 แล้ว จึงปรากฏหลักฐานว่า ทรงตั้งทำเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติขึ้นอย่างไรบ้าง ดังที่ปรากฏในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารเป็นต้น
โดยที่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นจากผลของการแสวงหาความถูกต้องตามพระธรรมวินัย เริ่มแต่การทรงศึกษาสอบสวน ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดมาจนถึงการศึกษาสอบสวนของพระเถรานุเถระผู้เป็นบูรพาจารย์แห่งคณะธรรมยุตเป็นลำดับมา
พระมหาเถระที่ถือว่าเป็นต้นวงศ์พระธรรมยุติกนิกาย
พระมหาเถระที่ถือว่าเป็นต้นวงศ์พระธรรมยุติกนิกาย มี 10 รูป ซึ่งปรากฏชื่อในคาถาพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวช ในหนังสือสีมาวิจารณ์ ได้แก่
1. พระวชิรญาณเถระ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
2. พระปัญญาอัคคเถระ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยา
ลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) วัดบวรนิเวศวิหาร
ลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) วัดบวรนิเวศวิหาร
3. พระปุสสเถระ คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (อุปสมบทครั้งแรกต่อมาลาสิกขา และเมื่ออุปสมบทใหม่มีฉายาว่า ปุสฺสเทโว)
4. พระพุทธสิริเถระ คือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
5. พระธัมมสิริเถระ คือ พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) วัดเครือวัลย์
6. พระพุทธิสัณหเถระ คือ พระอมรโมลี (นพ พุทฺธิสณฺโห) วัดบุปผาราม
7. พระสุวัฑฒนเถระ คือ พระปลัดเรือง สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร
8. พระพรหมสรเถระ คือ พระญาณรักขิต (สุข พรหมสโร) วัดบรมนิวาส ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนางที่ พระธรรมการบดี
9. พระโสภิตเถระ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนางที่ พระยาศรีสุนทรโวหาร
10. พระธัมมรักขิตเถระ คือ พระครูปลัดทัด ธมฺมรักขิโต วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนางที่ พระศรีภูริปรีชาการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
การปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในระยะแรกนั้น ภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกครองเองมาตลอด โดยยังรวมอยู่ในคณะกลางของคณะสงฆ์มหานิกายอันมีมาแต่เดิม ซึ่งมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ ทรงปกครองอยู่ ครั้นเมื่อพระองค์ทรงลาผนวชในปี พ.ศ.2494 เพื่อครองสิริราชสมบัติ จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ครั้งยังเป็นพระองค์เจ้าฤกษ์ ขึ้นเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นรองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในการปกครองคณะกลางนั้น โดยยกฐานะคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้นเป็นกิ่งหนึ่งของคณะกลาง และเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ จึงแยกคณะสงฆ์ธรรมยุตออกเป็นอิสระปกครองกันเองต่างหากจากคณะสงฆ์มหานิกาย โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นสังฆปริณายกแห่งคณะธรรมยุต (เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต) ปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ตามธรรมเนียมการปกครองคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ 3 ประการ กล่าวคือ
1. พระปกครองพระ ด้วยพระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้พระเคารพเชื่อฟังพระด้วยกัน
2. ปกครองให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย เพราะเมื่อใกล้จะปรินิพพานพระพุทธเจ้าได้ตรัสยกพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์
3. แบ่งการปกครองตามนิกาย เมื่อภิกษุแยกกันเป็นนิกาย ก็ทรงให้ปกครองกันตามนิกายของตน ไม่ทรงบังคับให้ปกครองร่วมกัน เช่น กรณีภิกษุเมืองโกสัมพีที่เคยแตกกันเป็น 2 ฝ่าย ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้ทำอุโบสถสังฆกรรมแยกกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น