การภาวนาพุทโธ คือ คือ ทำให้เกิดสมาธิและจิตใจสงบ ให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และนี่คือวิธีฝึกภาวนาพุทโธด้วยการกำกับ ลมหายใจโดยมีขั้นตอนอย่างมีระบบ ทั้งนี้การทำบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ จะเป็นการให้เอาจิตไปตั้งมั่นอยู่ในบริกรรมดังกล่าวนั้น และเมื่อจนชำนาญเต็มที่แล้วจะทำให้เราเป็นผู้ที่รู้ในตนเอง ทั้งนี้ ผู้ทำการภาวนาจะถูกฝึกให้พิจารณาพุทโธ กับผู้กล่าวพุทโธ และเมื่อพิจารณาเห็นเป็นคนละอันกัน จึงพึงจับเอาผู้ว่าพุทโธ ส่วนพุทโธนั้นจะหายไป เหลือแต่ผู้ว่าพุทโธอย่างเดียว
พระกัมมัฏฐานสายพุทโธ ก็คือ อานาปานัสสติกัมมัฏฐานนั่นเอง แต่พระเถราจารย์ของไทยได้นำเอาพุทธคุณซึ่งเป็นกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “พุทธานุสสติ” มาประกอบกับอานาปานัสสติเพื่อให้จิตเป็นสมาธิง่ายขึ้น เมื่อปฏิบัติเห็นผลด้วยตนเองแล้วจึงได้นำมาสอนศิษยานุศิษย์ให้ได้ผลดีเป็นลำดับสืบมา และเป็นที่นิยมกันแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้
กรรมฐานสายบริกรรมภาวนาพุทโธมีปรากฏในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งพระอาจารย์สำคัญผู้ที่ให้กำเนิดการปฏิบัติแนวนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ที่มา วิกิพีเดีย
เบื้องต้นแห่งการปฏิบัติการฝึกสมาธิภาวนา
นักปฏิบัติ ฝ่ายคฤหัสถ์ พึงประกาศปฏิญานตน ถึงพระไตรสรณคมน์ เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก่อน แล้วสมาทานศีล 5 หรือ ศีล 8 ให้บริสุทธิ์ กราบพระหรือไหว้พระเสร็จแล้วเจริญพรหมวิหาร 4 จบแล้ว จึงนั่งสมาธิภาวนาต่อไปนักปฏิบัติฝ่ายบรรพชิต พึงทำการบรรพชาอุปสมบทให้บริบูรณ์ ด้วยสมบัติ 5 ประการ คือ วัตถุสมบัติ ญัตติสมบัติ อนุสาวนาสมบัติ สีมาสมบัติ ปริสสมบัติ ชำระศีลให้บริสุทธิ์ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญพรหมวิหาร 4 จบแล้ว จึงนั่งสมาธิต่อไป
หลักของการทำสมาธิภาวนา
1. เมื่อเราฝึกเอาสติไปควบคุมให้อยู่ในพุทโธ เป็นอารมณ์อันเดียวและไม่ส่งส่ายไปในที่ต่าง ๆ คำบริกรรมนั้นก็จะหายไปโดยไม่รู้ตัว จะมีความสงบเยือกเย็นเป็นสุข เป็นความสุขสงบที่ไม่สามารถบรรยายได้ แต่อธิบายให้ตัวเองฟังได้2.ผู้บริกรรมภาวนาพุทโธ พึงทำใจเย็นๆ อย่าได้รีบร้อน ขอให้เชื่อมั่นในคำบริกรรมพุทโธ มีสติควบคุมจิตของตนให้อยู่ในพุทโธก็แล้วกัน ความเชื่อมั่นเป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ปล่อยวางความลังเลสงสัย แล้วรวบรวมจิตเข้ามาอยู่ในคำบริกรรม จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบกิจการงานอะไร จงมีสติรู้เท่ากับพุทโธอย่างเดียว
3. สมาธิเป็นของละเอียดอ่อนมาก เราจะบังคับให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าใจร้อนยิ่งไปกันใหญ่ เราต้องทำใจเย็นๆ จะเป็นสมาธิหรือไม่ก็ตาม เราภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ ทำใจให้เป็นกลาง วางจิตให้เสมอ แล้วผ่อนลมหายใจเบาๆ เอาสติไปกำหนดจิต ให้พุทโธอย่างเดียว
4. ผู้บริกรรมภาวนาพุทโธ ต้องทำให้ชำนาญคล่องแคล่ว ในขณะที่อารมณ์ดีและชั่วมากระทบเข้า ต้องทำสมาธิให้ได้ในทันทีทันใด อย่าให้จิตหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นได้ กิเลสความยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งทั้งปวง มันจะค่อยหายไปเอง